วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ – ผู้เปลี่ยนยิ้มธรรมดาสู่ ‘ยิ้มสู้’ ให้ผู้พิการ

“เราขายความสามารถ เราไม่ได้ขายความเวทนา” คำกล่าวของศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และผู้ที่เปลี่ยนยิ้มธรรมดาให้กลายเป็น ‘ยิ้มสู้’ ของผู้พิการ

“ยิ้มสู้ คาเฟ่” เริ่มต้นจากอะไร

จุดเริ่มต้นเกิดจากนโยบายของมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ที่ต้องการจะสร้างฐานที่มั่นคงให้แก่ผู้พิการอยู่แล้ว เราแค่หาแนวทางและจัดการต่อไป จนเกิดเป็นไอเดียธุรกิจคาเฟ่ ซึ่งจริงๆแล้วคาเฟ่ เป็นธุรกิจยอดนิยมในหลายประเทศและกำลังเป็นเทรนด์ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน เราจึงนำข้อมูลตรงนั้นกับข้อมูลที่เรามีมารวบรวมและต่อยอด เรามีข้อมูลที่ว่าอาชีพที่จะเหมาะกับคนพิการทุกประเภท คือการทำอาหาร เราสามารถเอาจุดอ่อนของคนพิการกลับมาเป็นจุดแข็งได้

อย่างเช่นในต่างประเทศที่มีการจัดให้ทานอาหารในบรรยากาศโต๊ะอาหารที่มืดสนิท ที่คุณไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดได้เลยหรือเรียกว่า Diner in the Dark จึงนำมาเป็นไอเดียเพื่อเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง และอีกไอเดียในประเทศอเมริกา ที่ได้ไปประชุมมา รายได้ของร้านเขาประมาณ10ล้านเหรียญ/ปี หรือประมาณ 3 พันล้านบาท/ปี เราเห็นตัวอย่างจากเมืองนอกในหลายๆเรื่องจึงนำมาลองที่เมืองไทย ส่วนการออกแบบและดีไซน์ของร้าน ผมยกหน้าที่ให้กับภรรยาคนเก่งของผม (คุณมณี สุขพูลผลเจริญ)

ชื่อร้าน ‘ยิ้มสู้’ มีแรงบันดาลใจจากอะไร

‘ยิ้มสู้’มาจากเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ เป็นของขวัญให้คนตาบอด ให้มีกำลังใจสู้ชีวิต ตั้งแต่ปี 2495 เราก็เลยขอพระราชทานชื่อนี้มาใช้ เป็นชื่อแรกและชื่อเดียวที่เราใช้กับเครือข่ายมูลนิธิของเรา

กว่าจะมาเป็น ‘ยิ้มสู้ คาเฟ่’ ผ่านปัญหาหรืออุปสรรคอะไรมาบ้าง

ด้วยความที่มันเป็นธุรกิจ และเราไม่เคยทำมาก่อน จึงต้องมีการศึกษาหาความรู้จากหลายๆด้าน แล้วค่อยเริ่มลงมือทำ หลังจากที่เปิดร้านไปได้สักพัก อาจจะเพราะมีสื่อหลายสื่อที่นำเสนอออกไป ทำให้คนรู้จักมากขึ้น ลูกค้าจึงแวะเวียนกันมาเยอะ ในช่วงนั้นจึงเกิดเหตุการณ์โต๊ะไม่พอ บริการไม่ทั่วถึง ลูกค้ารออาหารนาน แต่เราก็ได้วางแผนแก้ไขไว้แล้ว อาจจะเป็นทำป้ายเล็กๆ ออกแบบให้สวยงาม เพื่อเวลาเสิร์ฟ พนักงานก็เก็บป้ายคืนและไว้ให้ลูกค้าถ่ายรูปอัพโชว์เช็กอินในโซเชียลมีเดียได้ด้วย

ด้วยความที่มันใหม่ ต้องจัดการดีๆ ค่อยๆเรียนรู้และแก้ไขกันไป มีการคิด Gimmick เพื่อดึงดูดลูกค้า ตอนนี้คิดไว้ว่าจะทำเมนูอาหารเป็นภาพภาษามือด้วย ระหว่างที่ลูกค้ารอก็จะได้ใช้เวลาเรียนรู้ภาษามือไปในตัว

‘ยิ้มสู้ คาเฟ่’ ต่างจากคาเฟ่อื่นอย่างไร

จุดแข็งของเราคือ การบริการของเราเป็นการบริการจากผู้พิการ เป็นคาเฟ่ที่สร้างงานให้คนพิการ ช่วยส่งเสริมให้คนพิการลุกขึ้นมาช่วยตนเอง ไม่สอนให้ติดนิสัยแบมือขอ ซึ่่งมูลนิธิได้พยายามรณรงค์คนไทยไม่ให้เงินคนพิการอยู่แล้ว จะให้สนับสนุนองค์กรที่ช่วยให้คนพิการให้ลุกขึ้นมาช่วยตัวเองมากกว่า หรือจะเป็นการสนับสนุนสินค้าหรือบริการที่ทำขึ้นด้วยฝีมือคนพิการ

[dropcap type=”default”]“เราขายความสามารถ       เราไม่ได้ขายความเวทนา”[/dropcap]

 

อะไรคือเรื่องยากที่สุด ในการบริหารดูแล ‘ยิ้มสู้ คาเฟ่’

ผมไม่เคยคิดว่าอะไรมันยากที่สุด ผมพยายามบอกทุกคนว่าปัญหาคือสิ่งที่ทำให้เราสามารถพัฒนาและแข่งขันได้ดีขึ้น เมื่อไรที่เราปฏิเสธปัญหาเราก็จะแข่งสู้ใครไม่ได้

อันนี้ถือว่าสำคัญ เราจึงจำเป็นที่ต้องปลูกฝังคนของเรา ให้มีความคิดแบบนี้ เมื่อไรก็ตามที่เขาเริ่มมองว่าปัญหาเป็นภาระ นั่นคือจบเลย เขาจะไม่สู้อีกต่อ แล้วยิ่งโลกปัจจุบันมีการแข่งขันสูง การปลูกฝังความคิดที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่ผมมองว่าสำคัญกว่าคิดว่าปัญหาคืออะไร

ผู้พิการที่จะเข้ามาทำงาน ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

ความจริงแล้วมูลนิธิของผมหรือยิ้มสู้คาเฟ่เองยินดีรับผู้พิการทุกประเภท แต่ตอนนี้เราพัฒนาผู้พิการหูหนวกก่อน เพราะถือว่ายากสุด คนที่สนใจ ขอแค่มีใจอยาก ใจอยากจะฝึกฝน ใจอยากเรียนรู้ หรือสิ่งพวกนี้เขาเรียกว่าคุณสมบัติ (หัวเราะ)

แพลนในอนาคตของยิ้มสู้เป็นอย่างไร

อยากพัฒนาให้ ‘ยิ้มสู้คาเฟ่’ เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยจะเชิญภาคธุรกิจ เข้ามาร่วมลงทุน เพื่อขยายเครือข่าย เพิ่มความมั่นใจให้คนพิการ เมื่อเวลาที่เขาอยากไปประกอบธุรกิจเป็นของตัวเอง

ถ้าหากเราสามารถพัฒนาให้เป็นรัฐวิสาหกิจได้ รายได้ส่วนนึงจะนำไปช่วยสังคมในเรื่องอื่น ที่มองไว้คืออยากช่วยกลุ่มผู้ต้องขัง เพราะคนกลุ่มนี้เป็นบุคคลที่คนทั่วไปไม่ไว้ใจและยังขาดโอกาสเริ่มต้นใหม่อยู่ เป็นการส่งต่อและเปิดโอกาสให้กับคนทุกกลุ่ม

ฝากถึงผู้พิการที่กำลังรู้สึกท้อและต่างจากคนอื่น

ลองท่องคาถา  “ตาบอดทำได้ทุกอย่าง” แล้วเราก็จะทำสิ่งต่างๆได้ด้วยตัวเอง และต้องพยายามหาเรื่องที่ท้าทายทำเพื่อพัฒนาตัวเองด้วย เมื่อเราสู้กับตัวเองได้แล้ว ต่อไปคือการทำตัวเองให้มีประโยชน์ รู้จักให้อย่าไปคิดว่าตาบอดแล้วต้องแบมือขอจากคนอื่นตลอด แต่ตอนนั้นคิดว่าการช่วยตัวเองยังยากเลย จะไปให้อะไรเขาได้ แต่จริงๆแล้วแค่การยิ้มเป็นสิ่งที่เราให้ได้ เพราะการยิ้มช่วยให้คนคิดจะฆ่าตัวตาย ช่วยไว้หลายคนแล้ว แล้วก็บริจาคเลือด สภาพภายนอกเราจะเป็นแบบไหนแต่ก็ตาม แต่เลือดของทุกคนยังคงสำคัญและจำเป็นกับอีกชีวิต

ทำไมทุกคนถึงต้องมาลองทาน ‘ยิ้มสู้ คาเฟ่’

อยากจะเชิญชวนคนไทยที่สามารถมาสนับสนุน ‘ยิ้มสู้คาเฟ่’ ร้านอาหารร้านกาแฟของเรา นอกจากได้ทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่อร่อยแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้คนพิการลุกขึ้นมาช่วยตัวเอง ไม่ต้องการสนับสนุนให้คนพิการแบมือขอ เพราะถ้าคนพิการลุกขึ้นมาช่วยตัวเองแล้วทำได้ มันก็จะเป็นพลังบวกให้กับคนต่อไป ไม่ใช่เฉพาะกับคนพิการแต่ยังหมายถึงคนที่ท้อแท้คนอื่นด้วย

Yim Soo Cafe
มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เบอร์ติดต่อ 02-8861188

ติดตามข่าวสารจาก หมีสาระ

Facebook : www.facebook.com/mheesaradotcom/

Twitter : https://twitter.com/mheesara

 

บทความที่เกี่ยวข้อง