ไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ) – แนวคิดยกเลิกระบบเกณฑ์ทหาร

คุณไอติม พริษฐ์ เลือกที่จะสมัครทหารเกณฑ์แล้วใช้ชีวิตในบทบาทพลทหารกว่า 6 เดือนเต็ม เพื่อหนุนแนวคิดการยกเลิกการเกณฑ์ทหารและเปลี่ยนมาเป็นระบบสมัครใจแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าแนวคิดนี้สามารถเป็นไปได้ไหมพร้อมทั้งเปิดชีวิตการเป็นทหารเกณฑ์ให้ฟังแบบหมดเปลือก มาฟังไปพร้อมๆ กันเลย

รู้จัก “ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ”

พริษฐ์ วัชรสินธุ นะครับ หรือ ไอติม ปัจจุบันเป็น CEO อยู่ที่บริษัท Start Up ด้านการศึกษาที่พัฒนาแอปพลิเคชั่นชื่อว่า StartDee แล้วก็ในงานส่วนตัวก็ขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า

ทำไมถึงตัดสินใจ “สมัครทหารเกณฑ์”

ความจริงผมตัดสินใจมาสักพักนึงแล้ว ตั้งแต่สมัยอยู่มหาวิทยาลัยว่าในวันที่เราต้องมาทำตรงนี้ผมคงสมัครไปเลย ผมมีสองเหตุผลนะ

เหตุผลแรกคือเราก็อยากจะให้มันตรงไปตรงมาที่สุด เพราะว่าถ้าพูดกันตรงๆ เราก็รู้ว่าใบดำแต่ละใบที่แต่ละคนจับมาบางทีมันก็ไม่ได้ได้มาเพราะโชค เราก็เลยไม่อยากให้มันมีข้อครหาตรงนั้น ถึงแม้สมมติผมได้ใบดำเพราะโชคคนก็จะตั้งคำถามอยู่เรื่อยๆ ผมก็เลยต้องการแสดงความชัดเจนก็เลยตัดสินใจสมัครไป

อย่างที่สองคือผมมีความคิดมาตั้งนานแล้วว่าระบบการเกณฑ์ทหารในประเทศไทยมันไม่จำเป็นเลย แต่ผมรู้สึกว่าถ้าผมจะพูดด้วยความหนักแน่นขึ้น การที่ผมเข้าไปสัมผัสประสบการณ์นี้ได้ด้วยตนเอง การที่ผมเข้าไปมันเหมือนกับได้ข้อมูลทำงานวิจัยเชิงลึกมาด้วยตนเอง มันน่าจะทำให้ข้อเสนอของเรามันน่าจะครบมิติมากขึ้น ผมก็เลยตัดสินใจสมัครทหารเกณฑ์

วันแรกของการเกณฑ์ทหาร

คืนวันก่อนที่ผมเข้าไปรายงานตัวผมนอนสองชั่วโมง หลักๆ คือผมเป็นห่วงงานผมมาก คือความจริงช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมเริ่มเข้ามาทำงานการเมืองหลังจากลาออกจากบริษัทเอกชน แล้วเราก็เริ่มเหมือนกับวางรากฐานศึกษานโยบายในบางส่วนเริ่มสร้างทีมทำงาน พอเรารู้ว่าต้องหายไปหกเดือนมันก็มีความห่วงว่างานที่เราเริ่มทำมามันจะไปต่ออย่างไร

จำได้ว่าคืนวันสุดท้าย ก่อนรายงานตัวทำงานถึงประมาณตีสี่ตอนนั้นผมมีบทความบางอันที่ต้องเขียนและยังเขียนไม่เสร็จ ผมก็มีรุ่นน้องคนนึงที่มาช่วย และผมนั่งอัดเสียงตัวเองพูดอยู่บอกว่าช่วยพิมพ์ประมาณนี้นะ จะสื่อข้อความประมาณแบบนี้เพราะเดี๋ยวจะต้องเข้าไปเป็นทหารแล้ว

ดังนั้นวันที่ไปรายงานตัวก็คือง่วงทั้งวัน พอเข้าไปรายงานตัวเสร็จ คือก็มีหลายๆ คนบอกคืนแรกจะเป็นคืนที่หลายคนนอนไม่หลับเพราะว่าเราก็มารวมตัวกันที่กองร้อยครั้งแรก หลายคนก็มาจากหลายสถานที่บางคนก็เดินทางมาจากไกล ผมว่าผมเป็นแค่ไม่กี่คนในกองร้อยที่นอนหลับคืนแรก เพราะว่าผมง่วงมากแล้วก็ถือว่าเราทำใจมานานว่าเราจะต้องเข้าไปรับราชการทหารตรงนี้นะครับ เพราะฉะนั้นก็ถือว่าไม่ได้ตกใจหรืออะไรในคืนวันก่อนที่จะเข้าไป

กิจวัตรประจำวันของการเป็น “ทหารเกณฑ์”

ในช่วงสองเดือนครึ่งแรกจะเป็นการฝึก การฝึกเนี่ยจะเป็นช่วงที่ผมว่าเข้มข้นที่สุด เพราะว่าเขาจะไม่ให้มีการติดต่อโลกภายนอกเลยคือแน่นอนเรื่องโทรศัพท์เนี่ยถูกยึดหมดนะครับ แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ก็ไม่มีให้อ่าน ทีวีก็ไม่มีให้ดูคือแทบจะไม่ได้รู้ข่าวสารเกี่ยวกับบ้านเมืองเลย

แต่ผมจำได้ว่าพอผ่านไป 10 สัปดาห์ มีญาติเรามาเยี่ยมเป็นช่วงที่มีเรื่องของถ้ำหลวงพอดีคือเราไม่รู้เรื่อเลยนะครับ คือมันเป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศกำลังติดตามอยู่กำลังเป็นห่วงเด็กในถ้ำอยู่ เราเป็นทหารเกณฑ์นี่เราไม่รู้เรื่องอะไรเลย มันถูกตัดจากโลกแห่งความเป็นจริงไปเลย

พอ 10 สัปดาห์แรกเสร็จก็ถือว่าผ่านการฝึก หลังจากนั้นแต่ละคนก็จะถูกมอบหมายไปทำหน้าที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับว่าคุณถูกมอบหมายไปทำอะไร บางคนก็ไปเป็นกองรักษาการก็คือทำงานในค่ายนั่นแหล่ะ กองรักษาการภายในบางคนก็มีไปทำเอกสารบ้างหรือว่าอย่างที่หลายคนก็พอทราบ บางคนก็ถูกมอบหมายให้เป็นทหารของบ้านนายทหาร ซึ่งก็เป็นประเด็นที่มันก็ไม่เหมาะสมมากในสังคมไทย ที่เรามีการเกณฑ์คนไปไปเป็นทหารรับใช้ให้กับนายทหารนะครับ

มีบางส่วนถูกแบ่งไปเป็นพลทหารรับใช้ “จริง”?

คือผมว่ากองทัพเขาก็ปฏิเสธไม่ได้นะว่าก็มีทหารเกณฑ์บางส่วนไปเป็นทหารประจำการนายหทาร แต่นายทหารคนนั้น นายพลคนนั้นจะใช้ทหารนั้นทำอะไรมันก็กลายเป็นไปตกอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของนายพลคนนั้นแทน

คือถ้าเรามองว่า ถ้านายพลคนนึงถ้าเขามีความรับผิดชอบ เขาก็จะให้ทหารคนนั้นทำหน้าที่ที่มันเกี่ยวข้องกับการทำงานของกองทัพหรือการรักษาความมั่นคงของประชาชน แต่ว่าถ้าเราได้นายทหารที่อาจจะไม่ได้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมสักเท่าไหร่ เขาก็จะให้ไปซักผ้า ไปทำงานบ้าน ไปส่งลูก หรืออะไรก็ว่าไป

แต่ผมว่ามันก็ย้อนกลับมาถามแหล่ะว่าถ้าว่าเราเกณฑ์บังคับคนเข้าไปคือมันต้องมาจากความเชื่อว่าคนมันไม่พอ แต่ว่าพอเราบังคับเข้าไปแล้วยังมีคนพอที่สามารถไปทำงานบ้านต่างๆ ให้นายทหารมันก็ต้องย้อนกลับมาถามว่าตกลงคนมันไม่พอจริงหรือ คือมันมีการบังคับเข้าไปบนเหตุผลของกองทัพที่บอกว่ากำลังพลในการรักษาความมั่นคงของประเทศไม่พอ

แต่พอเข้าไปแล้วคุณก็ไม่ได้ให้ไปทำงานที่มันเกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงอยู่ดี การที่นายทหารมีพลทหารคนนึงไปงานบ้าน ผมว่าไม่ได้ทำให้ใครในประเทศรู้สึกปลอดภัยขึ้นนะครับ

แบ่งหน้าที่ของทหารเกณฑ์แต่ละคนอย่างไร

คืออันนี้ผมว่ามันขึ้นอยู่กับแต่ละค่ายเลย คือผมไปอยู่ในค่ายเดียวนะเราก็ไม่รู้นะว่ามาตรฐานหรือกระบวนการของค่ายอื่นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นเรื่องงานเอกสารบางทีเขาก็จะดูว่าคนนี้จบด้านไหนมาสามารถทำงานบนคอมพิวเตอร์ได้ไหมสามารถเขียน สะกดตัวอักษรต่างๆ ถูกต้องไหมนะครับ

เพราะว่าต้องยอมรับว่าภาพนึงที่ผมจำติดตัวเลย คือตอนที่เราเข้ามาในกองร้อยในวันแรกเขาจะมีถามเรื่องของวุฒิการศึกษานะครับแล้วก็จำนวนคนที่จบปริญญาตรี สมมติว่ากองร้อยมีหนึ่งร้อยคนจำนวนคนที่จบปริญญาตรีเนี่ยน้อยมากประมาณห้าคนไม่ถึงสิบคนนะครับ แล้วก็มีหลายคนที่อาจจะไม่จบมัธยมหก มีบางคนไม่จบประถมหกก็มีในมุมนึงมันก็สะท้อนเรื่องของความเลื่อมล้ำว่าในที่สุดแล้ว

ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่าชายไทยทุกคนต้องเกณฑ์ทหาร คนที่ในที่สุดต้องมาแบกรับภาระตรงนี้ส่วนมากเป็นคนที่โอกาสในชีวิตเขาน้อยอยู่แล้วนะครับ เขาไม่ได้สำเร็จการศึกษาถึงระดับมัธยมปลายเขาไม่ได้มีโอกาสไปเรียน รด.เขาก็เลยต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้นะครับ

พอเป็นอย่างนั้นเวลาเราพูดถึงงานเอกสารมันก็มักจะถูกแจกจ่ายให้กับคนที่อาจจะมีความคล่องกว่า แต่ว่างานส่วนใหญ่มันก็จะเป็นงานที่ถ้าในค่ายผม มันก็จะเป็นการทำงานกองรักษาการคือไปเข้าเวร

คือตอนนี้ผมก็บริหารบริษัทอยู่ สิ่งนึงที่เราคิดตลอดก็คือว่าแต่ละคนแต่ละการงานที่เขาทำมันคุ้มค่าต่อต้นทุนของบริษัทหรือเปล่า ถ้าเราขยายความตรงนี้มาเป็นเรื่องของกองทัพเนี่ยผมว่าผู้นำกองทัพก็ต้องคิดคล้ายๆ กันเพราะว่าเงินที่ใช้จ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ มันเป็นเงินภาษีประชาชน

เราก็ต้องถามว่ามันเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับประเทศไหม ที่ต้องมีกำลังพลจำนวนมากไปทำหน้าที่แบบนี้ แล้วไม่ใช่แค่คุ้มค่าสำหรับประเทศแต่คุ้มค่าสำหรับบุคคลคนนั้นไหมนะครับ

เพราะว่าเพื่อนผมหลายคนที่เกณฑ์ทหารด้วยกันเนี่ยเขาก็หลุดออกจากวงโคจรของชีวิตเขามาสองปีนะครับ บางคนก็ต้องทิ้งงานที่กำลังทำได้ดีอยู่ บางคนก็ต้องทิ้งครอบครัว มันจำเป็นขนาดนั้นหรือที่ต้องขอให้เขาออกจากชีวิตเขาสองปีเพื่อมาทำหน้าที่ตรงนี้เพื่อมาเข้าเวรตรงนี้มันจำเป็นขนาดนั้นหรือเปล่า

การเกณฑ์ทหารจำเป็นหรือไม่จำเป็น

ผมคิดว่าเราควรจะคือการยกเลิกการเกณฑ์ เพื่อทำความเข้าใจในการเกณฑ์คือการบังคับ เราดูยอดสมัครแล้วมีคนอยากเป็นทหารเท่านี้ แต่ความจริงเราต้องการเท่านี้ เพราะฉะนั้นเราจะบังคับอีกส่วนนึงให้มาเติมเต็มตรงนี้ผมคิดว่าเราควรจะยกเลิกระบบนี้นะครับ

อย่างแรกคือเรื่องของความจำเป็น ผมมีความรู้สึกว่ากำลังพลที่เราขอไปมันไม่ได้มีความจำเป็นขนาดนั้นแล้ว แล้วเรื่องที่สองคือเรื่องของความเป็นธรรมของระบบ ความจริงเป็นของตัวเลขเลยคือเราดูยอดตัวเลขของระบบการเกณฑ์ทหารที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าทุกๆ ปีกองทัพต้องการกำลังพลหนึ่งแสนคนเอาตัวนี้เป็นตัวตั้งก่อน ต้องการหนึ่งแสนคนแล้วเขาก็จะดูว่ายอดคนที่สมัครเข้าไปมีอยู่ประมาณสี่หมื่น ห้าหมื่นเพราะฉะนั้นเพื่อจะเติมเต็มอีกให้มันถึงแสน เขาก็เลยต้องไปบังคับห้าหมื่น หกหมื่นคนเนี่ยมาเป็นทหาร อันนี้ก็คือที่มาของใบแดง

จำนวนใบแดงก็สะท้อนจำนวนคนที่เขาต้องเติมเต็มที่นี้ เราต้องถามถึงความจำเป็นในมุมแรกตัวเลขหนึ่งแสนเหมาะสมไหม คือเขาบอกว่าต่อปีเนี่ยกองทัพต้องมีหนึ่งแสนคนเข้าไปทำหน้าที่ทหารไม่งั้นประเทศจะไม่มั่นคง

ผมก็ต้องถามสามคำถาม คือคำถามแรกในหนึ่งแสนคนนี้ เราก็รู้ว่ามีบางคนที่ไม่ได้เข้าไปทำงานที่มันเกี่ยวข้องกับความมั่นคง คือเข้าไปเป็นทหารรับใช้เราก็ต้องถามว่ามันทำให้ประเทศปลอดภัยขึ้นอย่างไร

อย่างที่สองก็คือ คนที่ทำหน้าที่คาบเกี่ยวกับเรื่องของความมั่นคง ก็ต้องถามว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง สมมติเราบอกว่าต้องมีคนไปเข้าเวรรักษาความปลอดภัยในค่ายทหาร มันจำเป็นต้องสิบคนไหมมันห้าคนพอหรือเปล่า ถ้าพูดในมุมมองขององค์กรคือทำอย่างไรให้มันลีนที่สุด

อย่างที่สามคือ เราก็ต้องมามองว่าการรักษาความมั่นคงของประเทศมันขึ้นกับจำนวนกำลังพลอีกต่อไปแล้วหรือเปล่า เพราะว่าภัยคุกคามมันไม่ได้เหมือนสมัยก่อน แต่ปัจจุบันภัยคุกคามมันไม่ได้มาในรูปแบบของสนามรบ มันมาในรูปแบบของนิวเคลียร์ซึ่งมันก็เป็นการกดระเบิดที่จะมีคนกี่คนก็ป้องกันไม่ได้ มันเป็นเรื่องภัยคุกคามทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับสงครามการค้า มันเป็นภัยคุกคามเรื่องข้อมูลที่มีการแฮกข้อมูล ดึงข้อมูลความลับของประเทศออกไป

เพราะฉะนั้นพอเรามองสามปัจจัยนี้คือหนึ่งในวันที่เรายังมีทหารรับใช้อยู่ สองคือในวันที่เรายังตั้งคำถามได้ว่าการใช้ทรัพยากรมันมีประสิทธิภาพมากที่สุดหรือยัง และสามคือคำถามเรื่องของภัยคุกคามที่มันเปลี่ยนรูปแบบไป

เพราะฉะนั้นหนึ่งแสนคนต่อปีผมถือว่าเยอะมากนะครับ และผมไม่ได้พูดลอยๆ นะ ผมเคยเอาตัวเลขไปวิเคราะห์เราเอาจำนวนกำลังพลของประเทศๆ นึงไปหารด้วยประชากรคุณก็จะได้จำนวนทหารต่อประชากร จากประเทศที่มีกองทัพใหญ่สุดสิบห้าประเทศ

ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในนั้น ไทยมาอันดับที่หกนะครับ ยอดกำลังพลต่อประชากรมาอันดับที่หก ถ้าเอาเฉพาะประเทศที่มีกองทัพขนาดใหญ่ห้าประเทศที่นำเรามี เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ พม่า มีอิหร่าน แล้วก็มีรัสเซีย ซึ่งส่วนมากล้วนจะเป็นประเทศที่มีภัยคุกคามที่ชัดเจนหรือเป็นประเทศที่เป็นมหาอำนาจ ถามว่าห้าประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับประเทศไทยไหม ผมก็ว่าไม่นะครับ

เงินเดือนที่ได้รับเมื่อเป็นทหารเกณฑ์ 10,000 บาท หักค่าอะไรบ้าง ?

หนึ่งหมื่นบาทมีการหักครับ อย่างแรกถ้าผมจำไม่ผิดมีการหักค่าอาหาร ในค่ายผมรู้สึกมันวันละเจ็ดสิบบาท สามสิบวันก็ประมาณสองพันหนึ่งร้อย นอกเหนือจากอาหารแล้วมันก็จะมีบางเดือนหักค่าชุดฝึกต่างๆ นานา

ซึ่งอันนี้ผมเข้าใจว่ามันขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการในแต่ละค่าย แต่ว่าในเชิงหลักการคือเราก็ต้องมาว่าเวลาเราโฆษณาเงินเดือนหนึ่งหมื่นบาท

เราก็ต้องถามว่าหนึ่งหมื่นบาทเนี่ย คือมันไม่รวมค่าอาหารแต่ว่าคุณอยู่ในค่ายคุณออกไปข้างนอกไม่ได้คุณก็ต้องทานอาหารของค่ายเพราะฉะนั้นมันก็ไม่ใช้เงินเดือนจริงๆ เพราะว่าคนก็โดนหักตรงนี้ไป

พอพูดถึงเรื่องของชุดหรือว่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่โดนหัก คำถามแรกคือ จำเป็นต้องหักไหมทำไมคุณไม่มองว่าทางกองทัพก็ต้องจัดสรรให้เขาเพราะว่าคุณบังคับให้เขาเข้ามาเป็นแล้ว

และในอีกมุมนึงผมว่าก็ต้องไปเปิดอันนี้ผมก็ยังไม่ได้ทำการบ้านนะ ต้องไปเปิดสัญญาดูว่าเวลามันมีผู้ประกอบการที่มาที่มาเสนอว่าจะให้กองทัพซื้อชุดฝึกจากเช่า มันเป็นการประมูลที่มันแข่งขันกันจริงหรือเปล่า หรือว่ามันมีเจ้าเดียวที่ผูกขาดกันมาตลอดผมว่าอันนี้มันก็เป็นปัญหาอย่างนึงเหมือนกันคือที่ในเรื่องของรายได้หรือว่าเม็ดเงินที่เหลือสำหรับทหารจริงๆ บวกกับความเป็นธรรมในการขายสินค้าให้กับกองทัพว่ามันมีการแข่งขันจริงหรือเปล่า

เคยเห็นหรือเคยถูกธำรงวินัยบ้างไหม

คือเรื่องการลงโทษมันมีนะครับอันนี้ก็มีจริง กองทัพเขาก็จะบอกเป็นวิธีนึงในการเพิ่มวินัยให้กับทหาร ถ้าถามว่าตัวผมเจออะไรที่มันล่วงเกินหรือเกินเหตุไหม ส่วนตัวก็ไม่ได้เจอแต่ผมก็ไม่ได้โลกสวยผมก็เข้าใจว่ามันมีนะครับ แล้วก็หลังจากเคยคุยกับหลายๆ คน จากค่ายอื่นๆ เราก็รู้ว่ามันมีอยู่ตลอด

ผมว่าสองอย่างนะ อย่างแรกต้องขีดเส้นให้ชัดเจนว่าอะไรคือการลงโทษที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนกับอะไรการลงโทษเกินเลยไป

อย่างที่สองคือผมว่าต้องเพิ่มความโปร่งใส ผมชอบโมเดลนึงมากของที่ประเทศเยอรมัน เขาจะมีตำแหน่งนึงชื่อผู้ตรวจการกองทัพเขาเรียกว่า Military ombudsman ก็คือว่าเปิดให้บุคคลภายนอกเนี่ยเข้าไปตรวจสอบได้ว่าการฝึก การทำงานของกองทัพมันมีอะไรที่มีผิดหลักสิทธิมนุษยชนหรือเปล่านะ

พอเราเพิ่มความโปร่งใสตรงนี้ ผมว่ามันก็ทำให้สมมติว่า กองทัพมีนโยบายแบบนึงแต่ว่ามีผู้ฝึกที่อยากจะไปทำอะไรไม่ดีกับพลทหารเขาก็ต้องหยุดชะงักแล้ว เพราะว่าเขามีการตรวจสอบ ผมว่าความเข้มข้นในการตรวจสอบตรงนี้ในกองทัพไทยมันยังไม่พอ

การที่เรามีบทบาททางสังคมถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษไหม

คือผมไม่เคยเข้าใจตรงนี้เลยนะว่าทำไมคนมองผมเป็นแบบนี้ คือผมก็ถือว่าผมเป็นลูกข้าราชการมาตลอด แต่ว่าในมุมนึงคือผมว่าผมก็เป็นธรรมดาคนนึงนะ ผมก็ไม่เคยใช้ชีวิตด้วยความคิดแบบอื่นตอนไปเป็นทหารผมก็เหมือนคนอื่นๆ ทั่วไปเพียงแต่ว่าเราไปบังคับมุมมองคนอื่นไม่ได้หรอก

อย่างวันแรกๆ ที่ผมเข้าไปเนี่ยผมว่ามันก็มีการเพ่งเล็งบ้าง สมมติเราเดินเป็นกลุ่มร้อยคนเนอะไปทานข้าวที่โรงเลี้ยงก็จะได้ยินเสียง วันแรกๆ ก็จะมีแบบไอติม เป็นไง อยู่ได้ไหม อะไรอย่างเนี้ยเหมือนกับมันก็มีนิดๆ หน่อยๆ แต่ว่าพอไปสักพักคือพอเขาเห็นว่าปฏิกิริยาเราไม่ได้มีอะไร เราก็ไม่ได้ใช้ชีวิตต่างจากคนอื่นมันก็หายไปครับ

2 ปีที่ใครคนนึงต้องมาเป็น “ทหารเกณฑ์” คุ้มค่าไหม

มันคือเรื่องของถ้าภาษาเศรษฐศาสตร์เขาบอกว่า Opportunity cost คือการศูนย์เสียโอกาสคือคุณดึงคนนึงออกมาจากชีวิตเขาสองปีเขาเสียไปเยอะมากนะครับ

ผมมีเพื่อนคนนึงที่ร้องไห้ทุกคืน เพราะว่าไม่มีเงินจ่ายค่านมให้กับลูกชายเขาเพราะว่าสมัยก่อนเข้ามาเป็นทหารเขามีรายได้ที่ มีงานที่รายได้ที่มันสูงกว่า

ผมมีเพื่อนอีกนึง อันนี้สะเทือนใจมากจากสกลนครร้องไห้คิดถึงแฟนทุกวันเลยในช่วงสิบอาทิตย์ที่ฝึกแล้วก็ติดต่อแฟนเขาไม่ได้ พอ 10 อาทิตย์ผ่านไปออกไปปรากฎแฟนมีสามีใหม่ คือมันเป็นความสูญเสียอย่างเนี้ยครับ ทั้งความสูญเสียในเรื่องของรายได้ความสูญเสียในความก้าวหน้าทางอาชีพ ความสูญเสียในการที่พ่อคนนึงจะได้อยู่กับลูกเขาสองปีในช่วงที่ลูกกำลังโต ความสูญเสียที่คนรักที่เคยอยู่ด้วยกัน พออยู่ห่างกันอาจจะทำให้ความรักมันร้าว คือผมเห็นแบบนี้ผมก็เจ็บผมก็รู้สึกเจ็บปวดแทนเขานะ

ทีนี้ผมก็เคยคิดว่าคนเหล่านี้พร้อมจะเสียสละไหม
ถ้าเราบอกว่าคุณพร้อมจะเสียสละสิ่งเหล่านี้ไหมเพื่อมาทำงานสองปีเพื่อทำให้ประเทศแบบปลอดภัย
ผมว่าเขายอมแต่ปัญหามัน ผมคิดว่าการที่เขาออกจากชีวิตเขามาสองปีมันไม่ได้ทำให้ประเทศปลอดภัยขึ้น
เพราะผมรู้สึกว่าการที่เขาเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์มันไม่ได้ทำหน้าที่ที่ทำให้ประเทศมันปลอดภัยขึ้น
ถ้าคุณถามเพื่อนผมนะคุณพร้อมเสียสละเหล่านี้ไหม
ถ้าเกิดว่าการที่คุณมาทำตรงนี้มันจะทำให้หกสิบล้านคนในประเทศเรามีความปลอดภัยผมว่าเขาพร้อมที่จะเสียสละ
แต่ว่าพอคุณดึงเข้ามาแล้ว แล้วสิ่งที่เขาทำมันก็เหมือนกับว่ามันก็ไม่ได้ทำให้ประเทศปลอดภัยขึ้น
ผมว่าเขาก็มันก็เป็นโอกาสที่เขาสูญเสียไปโดยไม่ได้อะไรกลับมา

6 เดือนที่เป็นทหารเกณฑ์ได้อะไรกลับมาบ้าง ?

พอเราเข้าไปสัมผัสจริงๆ ผมว่ามุมมองนึงที่เรารู้สึกมันครบถ้วนขึ้น คือมุมมองว่ากองทัพมองเรื่องนี้อย่างไร หรือว่าอาจจะไม่ใช่ผู้นำกองทัพแต่คนในกองทัพด้วยกันมองเรื่องนี้อย่างไร แล้วอย่างที่บอกคือ ผมก็แอบประหลาดใจว่ามันมีมุมมองหลากหลายกว่าที่ผมคิด คือมันก็มีผู้นำในระดับผู้กองผู้หมวดหลายๆ คนที่เขาค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวทางของการยกเลิกการเกณฑ์ทหารนะครับ มันก็ทำให้เรามีความหวังบ้างเพราะว่าเราก็มีความเชื่อว่าถ้าอยากจะไปเปลี่ยนองค์กรๆ นึงเนี่ย ถ้าองค์กรนั้นไม่มีใครเอาด้วยเลยเนี่ยมันก็เปลี่ยนยาก

แต่ถ้าภายในกันเองก็มีคนที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ผมคิดว่าโอกาสที่มันจะประสบความสำเร็จหรือมันเปลี่ยนได้เนี่ยมันสูงขึ้น เพราะฉะนั้นผมว่ามุมมองเรื่องของการเกณฑ์หารไม่ได้เปลี่ยน คือยังผมว่าจุดยืนผมเหมือนเดิมแต่ว่าเข้าไปเนี่ย มันทำให้เราออกมาแล้วเราพูดได้เต็มปาก เต็มคำขึ้นว่าข้อดีข้อเสียมันคืออะไร

ถ้ามุมมองทั่วไป ผมว่าเข้าไปเป็นทหารมันก็ทำให้เราเห็นถึงปัญหาเรื่องความเลื่อมล้ำอย่างชัดเจนขึ้นนะ คือประเทศในฝันที่ผมอยากให้มันเป็นคือประเทศที่คนสองคนเกิดมาในประเทศ แล้วโอกาสที่เขาจะประสบความสำเร็จมันเท่าเทียมกัน

คือในที่สุดสองคนอาจจะประสบความสำเร็จไม่เท่ากันก็ได้ แต่โอกาสเริ่มต้นในชีวิตเขามันต้องเท่ากัน ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ

ทีนี้พอเราเข้าไปเป็นทหารผมว่าเราก็ได้สัมผัสกับเพื่อนหลายๆ คนที่โอกาสในชีวิตเขาอาจจะไม่ได้เยอะมาก เขาอาจจะเกิดมาในครอบครัวที่มีปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว เขาอาจจะเกิดมาในครอบครัวที่ฐานะทางการเงินอาจจะไม่ได้ดีมาก ไม่สามารถส่งเขาไปเรียนต่อในระบบการศึกษาได้ เขาอาจจะเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่มีปัญหาเรื่องยาเสพติดเข้ามา ทำให้เขาหลุดเข้าไปในวงจรนั้นได้มันสะท้อนให้เห็นแหล่ะครับว่า เพื่อนผมกลุ่มนี้ผมว่าความสามารถ ความขยัน ความตั้งใจ ก็ไม่ต่างจากเพื่อนผมกลุ่มอื่นมากหรอก แต่ว่าด้วยสภาพแวดล้อมที่เขาเจอที่เขาควบคุมไม่ได้ ด้วยปัจจัยอื่นที่เขาเจอมันเลยทำให้โอกาสชีวิตเขาในวัยเด็กมันไม่เยอะเท่ากับคนอื่นนะครับ เพราะฉะนั้นผมว่ามันก็ยิ่งปัญหาที่เราเห็นในเชิงทฤษฎีเนี่ย เราเห็นภาพมันชัดเจนมากในวันที่เราไปเป็นทหารไง

การที่เข้าสมัครทหารเกณฑ์เป็นการหวังผลทางการเมืองไหม

คือผมได้อะไรจากการไปเป็นทหารในมุมนั้นเลยนะในวันนั้นเนี่ยคือผมลาออกจากบริษัทเพื่อมาทำการเมือง เราก็มาพร้อมไอเดียพร้อมสิ่งที่อยากจะทำทั้งในระดับประเทศทั้งในระดับพรรคทั้งเรื่องของไอเดีย เรื่องนโยบาย ไอเดียเรื่องการวิธีการสื่อสารการรับฟังปัญหาประชาชน สิ่งสุดท้ายที่ผมต้องการคือการที่ต้องหายไปหกเดือนและก็ไม่ได้ทำสิ่งตรงนี้ ผมจำได้ว่าวันที่ผมปลดเสร็จการรับราชการหกเดือน เหมือนผมวิ่งตามหลังเพื่อนนะเพราะว่าเหมือนกับเราหายไปเลยหกเดือน

แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมันเกิดขึ้นเยอะมากเนอะ แล้วมันก็เหมือนกับว่าการงานเรามันก็หยุดชะงักไปหกเดือนแทนที่เราจะเหมือนกับนำหน้าปัญหาแล้วเราออกมา เราต้องมาตามหลังปัญหาผมก็เลยไม่ค่อยเข้าใจประโยคนี้เท่าไหร่ แล้วก็ถ้าอย่างนั้นคุณก็ต้องบอกว่าทุกคนที่เข้าไป เพื่อนผมทุกคนหวังผลทางการเมืองไหมกับการที่สมัครเข้าไป หรือโดนใบแดงเข้าไป ผมว่ามันไม่ใช่ คืออย่างที่บอกคือถ้าผมเลือกได้ กฎหมายมันไม่ได้กำหนดมาแบบนี้ ผมก็คงไม่เป็นอะครับ

 

รู้สึกกดดันไหมที่มีศักดิ์เป็นหลาน“คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ผมไม่พยายามเอามาคิดหรือเอามากำหนดการใช้ชีวิตของผมคือผมมีความเชื่อว่าคุณค่าของคนๆ นึงอะมันอยู่ที่ความคิด อยู่ผลงานเขาอยู่ที่การกระทำเขามันไม่ควรจะไปเชื่อมโยงว่า เขาเป็นลูกหลานใครผมพูดถึงในแทบจะทุกสาขาวิชาชีพหรือว่าทุกมิติของชีวิตเลย เราพูดถึงในฐานะอย่างเช่น ทายาทของนักธุรกิจที่เข้ามารับธุรกิจต่อจากคุณพ่อคุณแม่เขาเราพูดถึงหลายคนที่ไปเป็นหมอ หลังจากคุณพ่อคุณแม่เขาเป็นหมอไปก่อน คือผมว่าแต่ละคนมีหน้าที่ที่ต้องพิสูจน์ด้วยความคิดและการกระทำของตัวเอง

เราไม่ควรจะใช้ว่า เราเป็นลูกหลานใครมาเป็นตัวกำหนดว่า เราควรจะใช้ชีวิตอย่างไรหรือมันทำให้เรามีโอกาสมากขึ้นหรือน้อยลง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ผมผมพยายามไม่เก็บมาคิดเลย แล้วก็ความจริงแทบจะไม่ค่อยเอ่ยชื่อด้วยซ้ำแต่ว่าก็มักจะโดนถามอยู่บ่อยๆ

อย่างสมัยก่อนที่เคยอยู่ประชาธิปัตย์ จำได้ว่าเราถึงขั้นบังคับตัวเองนะว่าเราจะไม่ไปทำงานที่มันคาบเกี่ยวกันก็คือว่าเช่น สมมติว่าคนรุ่นใหม่เข้าไปฝึกงานกับพรรคหรือว่าเข้าไปทำงานกับพรรค การได้ไปทำงานในคณะทำงานของหัวหน้าพรรคมันก็เป็นสิ่งที่มันดีสำหรับประสบการณ์เขา เพราะมันได้ตามไปดูงานหลากหลายที่เราก็บังคับตัวเองว่า เราไม่ไปเพราะว่าเหมือนกับว่าพอเป็นญาติกัน เรารู้สึกว่าก็ไม่อยากให้มันเป็นแบบนั้น ในมุมนึงเหมือนกับเราพยายามตั้งใจจะมากไปด้วยซ้ำที่พยายามจะตัดเรื่องนี้ออกไป ให้มันมีความห่าง แต่ว่าตอนนี้คงไม่ต้องกังวลแล้ว ก็อยู่กันคนละพรรคอยู่แล้วก็คิดว่าคำถามนี้คงไม่น่าจะมีอีกแล้วมั้ง

บทบาทใหม่ที่กำลังทำเกี่ยวกับการศึกษาแอปพลิเคชั่น “StartDee”

หลังจากที่ผมลงเลือกตั้งและเราไม่ได้รับเลือกตั้ง แล้วพอพรรคตัดสินใจเข้าร่วมกับรัฐบาลผิดคำพูดที่เขาพูดไว้เราก็เลยตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ แล้วเราก็พักงานทางการเมืองอย่างเป็นทางการไปช่วงนึง เราก็มานั่งตั้งหลักว่าเราจะทำอาชีพอะไรต่อดีจะกลับไปบริษัทเก่าไหมที่เคยทำหรือจะทำอะไร ผมก็มาตกผลึกว่าผมอยากจะทำงานที่ในมุมนึงที่มันได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมจากภาคเอกชน แต่ในอีกมุมนึงมันก็ทำให้เราได้ฝึกทักษะการบริหารองค์กรการบริหารคนจำนวนมาก เราก็ตัดสินใจว่าโอเคเราอยากจะทำสตาร์ทอัพเพื่อสังคมแล้วพอมาพูดถึงปัญหาสังคมที่ผมรู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่หลวงที่สุดในประเทศอย่างนึงเนี่ยผมคิดว่าก็คือเรื่องของการศึกษา

เราเห็นว่าเด็กคนนึงหรือคนๆ นึงจะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในประเทศเรามันเป็นอะไรที่ยากมากนะครับ ผมว่าสถิตินึงเลยที่สะท้อนให้เห็นชัดมากถึงปัญหาการศึกษาไทยคือตารางสองตารางนะครับ ตารางแรกเป็นตารางที่เปรียบเทียบทุกประเทศบนข้อมูลว่าเด็กในประเทศนั้นใครเรียนหนักที่สุดคือจำนวนที่เด็กเรียนในโรงเรียนประเทศไทยอยู่บนตารางเลยคือชั่วโมงเรียนเยอะมากอันนี้ไม่นับชั่วโมงเรียนพิเศษแล้วนะ อีกตารางนึงเนี่ยคือเรียงประเทศตามคะแนนตัวชี้วัดที่เรียกว่า “PISA” คือเป็นข้อสอบที่เขาใช้วัดเด็กในทุกๆ ประเทศแล้วก็มาดูว่าเด็กในแต่ละประเทศทักษะเปรียบเทียบกันในช่วงอายุเดียวกันอันนี้ประเทศไทยอยู่ล่างๆ ประมาณอันดับห้าสิบ หกสิบจากแปดสิบประเทศที่เขามีการวัดผลตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนหลายประเทศเหมือนกัน

มันแสดงว่าเด็กไทยขยันนะใส่ชั่วโมงเรียนเยอะมาก แต่ทำไมระบบมันไม่ได้แปลความขยันอันนั้นออกมาเป็นทักษะที่ทำให้เขาสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ เด็กต่างประเทศได้ดีเท่าที่ควรภาพรวมของการเข้าถึงการศึกษา มันเลยเป็นสิ่งที่ผมว่ายังเป็นปัญหาอยู่แล้วยิ่งไปกว่านั้นคุณภาพการเรียน การสอนในแต่ละโรงเรียนก็มีความแตกต่างกันมากโรงเรียนที่มีความพร้อมก็มีคุณครูที่เก่งมากจำนวนมาก มีอุปกรณ์การเรียนพร้อมแต่โรงเรียนที่เขานิยามว่าเป็นโรงเรียนขนาดเล็กเนี่ย บางโรงเรียนเนี่ยมีคุณครูไม่พอนะครับ เด็กโรงเรียนประถม ป.หนึ่ง ถึง ป.หก บางทีมีครูไม่ถึงหกคนหมายความว่าครูคนนึงต้องสอนป.หนึ่ง ป.สอง ป.สาม พร้อมกัน เก่งแค่ไหนก็เป็นไปไม่ได้นะครับ เด็กจะเก่งแค่ไหนพัฒนาการก็ชะลออยู่แล้วถ้าเจอแบบนี้

เพราะฉะนั้นเราจะมองว่าในภาพรวมเนี่ย การเข้าถึงการศึกษาที่ดีมันเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับเด็กไทยแต่ในอีกมุมนึงเนี่ย เราเริ่มเห็นเด็กไทยเข้าถึงโทรศัพท์มือถือมากขึ้นอัตราการถึงมือถือสมาร์ทโฟนอยู่ที่ประมาณแปดสิบหกเปอร์เซ็น แม้กระทั่งจากกลุ่มเด็กที่มีรายได้น้อยก็เข้าถึงประมาณเจ็ดสิบเก้าเปอร์เซ็น เราเชื่อว่าตัวเลขนี้ก็จะขึ้นไปเรื่อยๆ ในอนาคตเพราะฉะนั้นสมการที่ StartDee ทำนะครับ

ก็คือมองว่าในเมื่อสัดส่วนของคนที่เข้าถึงมือถือสมาร์ทโฟนเนี่ยมันสูงกว่าสัดส่วนของคนที่เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพถ้าเราเอาการศึกษาที่มีคุณภาพไปใส่โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน มันก็จะน่าจะเปิดโอกาสให้กับเด็กหลายคนทั่วประเทศได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น ถามว่าร้อยเปอร์เซ็นไหม ก็ยังเพราะว่าเราก็เข้าใจว่าก็ยังมีเด็กหลายคนที่เข้าไม่ถึงโทรศัพท์มือถือ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นจุดเริ่มต้นในการที่ทำให้โอกาสในเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมันดีขึ้น อันนี้ก็เป็นจุดกำเนิดของแอป StartDee เพราะฉะนั้นเราก็พัฒนาแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมพวกเนื้อหาการเรียน การสอนทั้งในรูปแบบของวิดีโอ แบบฝึกหัด ชีทสรุปบทเรียน ทั้งวิชาหลักที่เรียนในโรงเรียนอย่างพวกเลข ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์แล้วก็วิชานอกห้องเรียนด้วย อย่างเช่นทักษะทางการเงิน ทักษะดิจิตอล ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ความรู้เรื่องเพศศึกษาเป็นต้นนะครับ อันนี้ก็เลยเป็นที่มาของ StartDee ครับ

อยากฝากอะไรถึง “คนรุ่นใหม่”

ก็อยากจะเป็นกำลังใจให้คนรุ่นใหม่นะ คือผมมองว่าตอนนี้มันมีสองเทรนหรือสองแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศเรา อย่างแรกคือผมคิดว่าประเทศต้องพึ่งพาคนรุ่นใหม่มากขึ้นที่ผมพูดแบบนี้คือมันมาจากการที่ว่าเราเริ่มเห็นสังคมหรือว่าโลกเราเนี่ยมันเปลี่ยนแปลงไปเร็วขึ้นเปลี่ยนแปลงในอัตราที่เร็วขึ้นนั่นหมายความว่าพอโลกมันเปลี่ยนเร็วปัญหาใหม่ๆ มันเกิดขึ้นมามันจะมีบางปัญหาที่คนรุ่นใหม่ มีความเชี่ยวชาญมากกว่าหรือมีความคุ้นเคยมากกว่า

อย่างเช่นประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่เราเห็นผู้นำเป็นคนรุ่นใหม่เยอะ เพราะว่าคนรุ่นใหม่อาจจะรู้สึกว่าต้องอยู่กับโลกนี้ไปอีกนานเขาก็สนใจมากกว่าประเด็นเรื่องเทคโนโลยี ก็เป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่มีความเชี่ยวชาญกว่าถ้าคิดง่ายๆ เลยว่าบ้านหนึ่งมีปู่ย่าตายาย พ่อแม่ แล้วก็ลูกหลาน สมมติวายฟายพัง อินเตอร์เน็ตเสียถามว่าคนในบ้านนั้นหันมาหาใคร ก็ต้องหันมาหาลูกหลานครับอันนี้ก็เป็นภาพจำลองของประเทศเราเหมือนกัน

นั่นหมายความว่าถ้าเราอยากให้ประเทศเราได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีมากที่สุด ผมคิดว่ามันก็ต้องพึ่งผู้นำและก็ความคิดของคนรุ่นใหม่ๆ เพราะฉะนั้นในมุมนึงเนี่ยผมว่าประเทศเราจะพัฒนาได้ต้องพึ่งแรง พลังและความเชี่ยวชาญของคนรุ่นใหม่มากขึ้นแต่ในอีกมุมนึงเนี่ย เราก็เห็นว่าคนรุ่นใหม่เนี่ยรู้สึกว่า ตัวเองพึ่งพารัฐได้น้อยลงเขามีความรู้สึกว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองเขาถูกจำกัดด้วยรัฐนูญที่ออกแบบแล้วทำให้คณะกรรมการสรรหา สว.คนนึงมีอำนาจมากกว่ประชาชนสองล้านเท่า ทำให้เจตจำนงที่เขาแสดงผ่านการเลือกตั้งเนี่ยมันไม่ถูกเคารพนะครับ

ระบบสวัสดิการอาจจะยังไม่ดีพอที่จะประคับประคองให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีในวันที่วิกฤตโควิดถาโถมเข้ามานะครับ เพราะฉะนั้นในมุมนึงรัฐต้องพึ่งพาคนรุ่นใหม่มากขึ้นแต่คนรุ่นใหม่กับรู้สึกว่าพึ่งพารัฐได้น้อยลงนะครับ เพราะฉะนั้นผมคิดว่า มันก็เลยเป็นสองฉนวนที่ทำให้ตอนนี้คนรุ่นใหม่หลายคนก็ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง และผมคิดว่าถ้าเราพูดถึงวิกฤตที่ประเทศเรากำลังเจอปัจจุบันเนี่ยทั้งวิกฤตทางการเมืองหรือที่เรามีรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่ไม่เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองเท่ากันแล้วก็วิกฤตเศรษฐกิจที่จะหนักหนาสาหัสขึ้นจากการที่โควิดเข้ามา ผมว่าประเทศเราต้องพึ่งพาคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแนวหน้าในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ เพราะฉะนั้นก็ขอเป็นกำลังใจให้คนรุ่นใหม่ที่พยายามที่จะเรียกร้อง พยายามจะเสนอทางออกให้กับประเทศอยู่ ก็ไม่มีไรมากกว่านั้นครับ และก็ผมก็หวังว่าจะเป็นส่วนนึงแหล่ะในการที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ครับ

เรียกได้ว่าบทสัมภาษณ์ครั้งนี้เต็มอิ่มมากๆ เลย ได้ทั้งประสบการณ์จริงๆ จากการที่คุณไอติมได้เข้ารับการฝึกทหารเกณฑ์ 6 เดือนเต็มๆ และอื่นๆ อีกมากมาย และที่สำคัญคือแนวคิดของการที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ ใครที่อ่านจนมาถึงจนจบคิดเห็นว่าแนวทางนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ไหม..

ติดตามข่าวสารจาก หมีสาระ

Facebook : www.facebook.com/mheesaradotcom/

Twitter : https://twitter.com/mheesara

 

บทความที่เกี่ยวข้อง